ปุจฉา ยังมีความโกรธง่ายมาก ทั้ง ๆ ที่ปฏิบัติธรรมมานาน
วิสัชนา พระมหาวรพรต กิตติวโร ตอบปัญหาธรรม
การปฏิบัติธรรมนานก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดอะไร ก็อยู่ที่ว่าเราปฏิบัติได้ตรงต่อธรรมหรือเปล่า ถ้าทำแล้วตรงต่อธรรม ความโลภก็เบาบางลง ความโกรธก็เบาบางลง ความหลงก็เบาบางลง
ถ้าปฏิบัติแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ลดลงตรงกันข้ามกลับเพิ่มขึ้น ก็ต้องพิจารณาตนเองว่าเราปฏิบัติได้ตรงต่อธรรมหรือเปล่า
เพราะปฏิบัติก็เพื่อละเพื่อสละ ที่สุดของการปฏิบัติคืออะไร สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ เพราะฉะนั้นแนวทางระหว่างทางของการปฏิบัติก็ต้องเป็นไปเพื่อลดละสละเลิก เพื่อปล่อยเพื่อวาง อันนี้เป็นตัวชี้วัดเลย การปฏิบัติที่ถูกต้อง ใจต้องนิ่งขึ้น เย็นขึ้น ผ่องใสขึ้น ความโลภลดลง ความโกรธลดลง ความหลงลดลง
เพราะฉะนั้นก็การปฏิบัตินานไม่นานมันไม่ใช่เครื่องชี้วัด เครื่องชี้วัดก็คือผลของการปฏิบัติ ก็วัดที่ตัวเราเองนี่แหละ การปฏิบัติมันก็ต้องลงมาที่ตัวเราเอง บางทีเราไปแนะนำเพื่อนก็อยู่ที่ว่าเขาฟังหรือเปล่าอีก ของอย่างนี้ ปฏิบัติถ้าตรงแล้วมันจะเป็นไปเพื่อละ ละมานะทิฐิความเป็นอัตตาตัวตน ถ้าปฏิบัติไปแล้วตัวตนมันเยอะ ไม่ฟังใคร ทิฐิเยอะ มานะเยอะ ความถือตัวถือตนมาก อย่างนี้มันยังไม่ตรงต่อธรรม เป็นไปเพื่อความยึดมั่นถือมั่นมากอย่างนี้มันไม่ตรงต่อธรรม
นักปฏิบัติจริง ๆ คนภายนอกดูไม่ออกหรอก ก็เป็นคนธรรมดานี่แหละ ไม่ใช่ว่าต้องนิ่งมีลูกประคำเป็นเกจิอาจารย์ มันไม่ใช่วัดกันตรงนั้น ของภายนอกเปลือกนอก ของจริงโยมเดินผ่านโยมก็ไม่รู้เป็นคนธรรมดานี่แหละ แต่ว่าใจมันวางได้ อัตตาตัวตนมันน้อย ยอมเป็น ไม่ใช่ว่าปฏิบัติแล้วตัวตนมันเยอะมันก็ไม่ใช่ ยังไม่ตรงต่อธรรม ฝึกเพ่งมาก ๆ มันจะเป็นแบบนั้น โกรธรุนแรง หงุดหงิดรุนแรง ไม่ยอมใคร ไม่ฟังใคร อย่างนั้นน่ะมานะทิฐิก็มาก ตัวตนก็มาก อย่างนี้ยังไม่ตรงต่อธรรม
เพราะฉะนั้นหลักสูตรสุดท้ายของการฝึกคือการกลับเป็นคนธรรมดา ถ้าปฏิบัติแล้วรู้สึกว่าเราไม่ใช่คนธรรมดาเนี่ย เราดีกว่าเขา เราเลิศกว่าเขานี่ ยังฝึกไม่ได้ที่ ยังใช้ไม่ได้ ปฏิบัติต้องเป็นคนธรรมดาแล้วจะมองทุกอย่างเป็นของธรรมดาไปหมด ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ทุกอย่างก็สมมุติ เป็นไปตามวงจรของกรรมทั้งสิ้น
คนที่เขาปฏิบัติแล้วจะเห็นเป็นธรรมดา มีแต่สงสารอยากจะช่วยเท่าที่ช่วยได้ พรหมวิหารสี่ก็เกิด ไม่ใช่ว่าเออ..เราดีกว่าเขา ถ้าอย่างนี้ต้องพิจารณาตัวว่าตรงต่อธรรมหรือเปล่า ธรรมของพระพุทธองค์ เป็นไปเพื่อละเพื่อวางเพื่อสลัดคืนจากโลก เพื่อดับอัตตาตัวตน ความยึดมั่นถือมั่นจากโลก ก็จะเป็นเนื้อเดียวกับเนื้อธรรมชาติเลย
ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงตรัส พระองค์รู้สึกต่อพระเทวทัตอย่างไรก็รู้สึกต่อพระราหุล อย่างนั้นเช่นกัน พระเทวทัตคือใครโยม คู่อาฆาตใช่ไหม ซึ่งถ้าเป็นคนธรรมดานี่เราต้องเกลียดมาก ๆ เลยนะ เกิดมากี่ชาติก็รังควานตลอด แล้วพระราหุลคือใคร ลูกหัวแก้วหัวแหวน แต่พระองค์ตรัสว่าพระองค์รู้สึกต่อพระเทวทัตอย่างไรก็รู้สึกต่อพระราหุลอย่างนั้น เนี่ยเนื้อธรรมมันจะเป็นอย่างนั้น มีแต่ความมหากรุณาที่อยากจะให้พ้นทุกข์เท่านั้นเอง
ที่เราเป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าอะไร กรรม กรรมมันปรุงแต่งไป ร่างกายนี้ก็คือกรรมเก่า จะดีจะชั่วก็ไปตามกรรมเท่านั้น มีแต่พ้น เรียกว่าลอยบุญลอยบาป พ้นสมมุติ มันถึงจะพ้นจากสิ่งเหล่านี้ ผู้ที่พ้นแล้วมันก็เป็นเนื้อเดียวกันเป็นเนื้อธรรมชาติ ไม่ได้มีอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของความหลงทั้งสิ้น หลงสมมุติเท่านั้นเอง เมื่อใดที่ออกจากวังวนของจิต ออกจากวังวนของความหลงได้ก็กลับคืนสู่ธรรมชาติเป็นเนื้อเดียวกันเป็นสุญญตาเหมือนกันหมด
ที่พระพุทธองค์ทรงตรัส เราไม่กล่าวถึงความต่างระหว่างวิมุตติกับวิมุตติ เป็นเนื้อเดียวกัน โลกสมมุติมันก็สมมุติไป เป็นนั่นเป็นนี่ไป ว่าด้วยกรรมก็เป็นไปตามกรรมนั่นแหละ แต่มันก็เป็นวัฏฏะทั้งคู่ จะดีจะชั่วมันก็อยู่ในวัฏฏะอยู่ในวังวนของสมมุติ แต่ผู้ที่เขาตื่นออกมาจากความหลงแล้วก็เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นเนื้อของธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เหมือนกันหมดไม่มีความแตกต่าง
เพราะฉะนั้นเตือนได้ก็เตือน เตือนไม่ได้ก็วางใจ ฝึกตัวเอง เพราะการปฏิบัตินี่มันฝึกตัวเองเป็นหลัก เขาโกรธเราไม่โกรธด้วยแล้วกัน เขาร้อนเราก็เย็นได้ ฝึกตน
..................................................
ธรรมบรรยาย โดยพระมหาวรพรต กิตติวโร (ป.ธ.๖)
คอร์สอบรมวิปัสสนา "เดินจิต...สติปัฏฐานสี่" วันที่ ๗-๑๕ มกราคม ๒๕๖๐"
ณ ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เขมรังสี (ศูนย์ ๔) อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา