ปุจฉา-วิสัชชนา

ปุจฉา สติและสัมปชัญญะ แปลว่าอะไร
วิสัชนา ตอบโดย พระอาจารย์มหาวรพรต กิตติวโร

สติ คือ ความระลึกรู้ 

สัมปชัญญะ คือความรู้ทั่วพร้อม

ถ้าแปลตามศัพท์ ความรู้ทั่วพร้อมกับสภาวะรู้ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

ความรู้ทั่วพร้อมเป็นฐาน เรียกว่าฐานของเวทนา ฐานของความรู้สึกของร่างกาย และจิตใจ ถ้าจะแยกความรู้สึกตัวทั่วพร้อมกับสภาวะรู้ ในความหมายนี้ สภาวะรู้ คืออมตะธรรม เป็นธรรมธาตุ เป็นธาตุรู้  อมตะธรรม คือธรรมที่พ้นจาก การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ความรู้ตัวทั่วพร้อมเป็นสิ่งที่ถูกรู้ เราจะชัดเจนตรงนี้ต่อเมื่อเราพัฒนาสติ จนมีความมั่นคง ตั้งมั่น
 
  • เมื่อสติมีความมั่นคงตั้งมั่น จากสัมมาสติ (การระลึกรู้ที่ถูกต้อง) ก็จะเข้าสู่สัมมาสมาธิ ( ความตั้งมั่นที่ถูกต้อง) ก็คือเกิดสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อม มีความรู้สึกทั้งตัว รู้พร้อมทั้งกายและใจ คือมีสัมมาสมาธิ รู้ทั่วพร้อมทั้งตัว
 
แต่เมื่อใดที่เราสามารถอยู่กับสภาวะรู้ได้ ความรู้สึกทั้งตัวนี้ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ คือเมื่ออยู่กับสภาวะรู้นี้ จะเปลี่ยนจากสัมมาสมาธิ มาเป็นสัมมาญาณ ซึ่งก็คือวิปัสสนาญาณทัสสนะ จะเกิดความรู้ที่เรียกว่า รู้เห็นตามความเป็นจริง
 
เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวทั่วพร้อมกับสภาวะรู้จึงเป็นคนละสิ่งกัน ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมเรียกว่าเป็นฐาน สติปัฏฐานสี่คือ ฐานกาย ฐานเวทนา ฐานจิต ฐานธรรม ฐานในสภาวะของสัมมาสติก็คือฐานทั้งสี่ของมหาสติปัฏฐาน ตรงนี้เป็นสภาวะธรรมที่ยังไม่เข้าสู่สัมมาสมาธิ แต่เมื่อไรเราเจริญสติปัฏฐานสี่ ใช้ฐานใดฐานหนึ่งจนเรามีสติมั่นคง มีจิตตั้งมั่น เข้าสู่สภาวะของสัมมาสมาธิ ก็คือความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ตรงนี้สภาวะมันก็คือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
 
  • ในอานาปานสติสูตร 16 ขั้น สภาวะของสัมมาสมาธิก็คือสภาวะของสัมปชัญญะ ก็คือสภาวะรู้สึกตัวทั่วพร้อม สภาวะนี้จะเป็นรอยต่อของการปฏิบัติ ถ้าเราจะเดินในด้านของสัมมาสมาธิหรือสมถะในทางพุทธศาสนา ก็ให้อยู่กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อมไปเรื่อย ๆ สติสัมปชัญญะก็จะละเอียดขึ้น จากความรู้สึกตัวทั่วพร้อมเกิดความซาบซ่าน เอิบอาบทั้งตัว เกิดความสุขเบาสบาย โปร่งโล่ง เกิดความนิ่งเฉย อันนี้ก็จะเดินไปตามลำดับของสมาธิ จากฌานที่ 1-2-3-4 ความรู้สึกตัว การรู้จิต จิตตั้งมั่น จิตผู้รู้ คือสภาวะของสัมมาสมาธิ ผู้ปฏิบัติอาศัยฐานเพื่อเพิ่มกำลังของสติสัมปชัญญะขึ้นมา ชึ่งความรู้สึกตัวทั่วพร้อมจะเป็นรอยต่อสำคัญ
 
มีพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า สัมมาสมาธิทุกขั้นตอนเป็นบาทฐานของวิปัสสนา สามารถพลิกเข้าสู่อาสวักขยญาณได้ พระองค์ก็ทรงไล่จากปฐมฌานขึ้นไป ในปฐมฌานมีสภาวะธรรมคือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน เธอพิจารณาสภาวะธรรมในความเป็นโรค เป็นดุจหัวฝี โดยความเป็นของน่ากลัว ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ฯ ทรงสอน11 อย่าง จากนั้นน้อมจิตไปในอมตะธาตุ นั่นสงบ นั่นระงับ นั่นปราณีต ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เธอดำรงอยู่ในวิปัสสนาญาน ทำอาสวักขยญานให้เกิดขึ้น สิ้นกิเลสได้
 
การน้อมจิตเข้าสู่อมตะธาตุ ก็คือสภาวะที่เรียกว่าสภาวะรู้ แยกออกจากจิต ถ้าเราพลิกในขั้นความรู้สึกตัว ก็คือความรู้สึกตัวที่ปิดบังสภาวะรู้อยู่ เมื่อน้อมตัวก็คือการแยกออก สลัดออกจากกัน จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า สัมมาญาณ หรือ วิปัสสนาญาณทัสสนะ เกิดความรู้เห็นตามความเป็นจริง เริ่มจากความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นไปก็จะทำได้ ขณะนั้นคืออยู่กับสภาวะรู้แล้ว เมื่ออยู่กับสภาวะรู้ ความรู้สึกทั้งตัวหรือสภาวะธรรมในขณะนั้น จะเป็นสิ่งที่ถูกรู้ เรียกว่าเกิดการรู้เห็นตามความเป็นจริง ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดการแยกธาตุ แยกขันธ์ เป็นของใคร ของมัน มิติใคร มิติมัน เกิดดับของใคร ของมัน
สภาวะตรงนี้ ถ้ามีเสียงเกิดขึ้น จากเสียงปกติ เสียงจะมารู้ที่หู รู้ที่ใจ จะกลายเป็นเสียงแยกออกไปข้างนอก เป็นเสียงนก เสียงกา เสียงเป็ด เสียงไก่ แยกออกไปข้างนอก เป็นของใคร ของมัน มิติใคร มิติมัน เกิดดับของใคร ของมัน ถ้ามีความคิดเกิดขึ้น ความคิดจะหลุดออกไปข้างนอก เป็นของใครของมัน เป็นดวงเลย เห็นได้ด้วยวิปัสสนาญาณเท่านั้น มันไม่ใช่นิมิต มันเป็นวิปัสสนาญาณ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดการแยกธาตุ แยกขันธ์ สภาวะข้างนอก อุณหภูมิ อากาศ จะเกิดการแยกออกไป ถ้าสติละเอียดมากจะรู้ทุกระดับเลย ทุกสิ่งจะถูกรู้หมด แม้กระทั่งเม็ดฝน สติจะคมมากตั้งแต่ชั้นรู้สึกตัวขึ้นไป เมื่อพลิกเป็นวิปัสสนาญาณ ที่เรียกว่ารู้เห็นตามความเป็นจริง
 
ตรงนี้คือสภาวะที่พระอัญญาโกณทัญญะ หลังจากฟังปฐมเทศนาครั้งแรก ขณะที่ฟังก็เกิดการเดินจิตตามขณะที่พระพุทธองค์สอน แล้วเข้าสู่สภาวะนี้ ที่เรียกว่าเห็นตามความเป็นจริง จึงเกิดดวงตาเห็นธรรม ปรารภขึ้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ดับไปเป็นธรรมดา
สภาวะของวิปัสนาญาณเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ชั้นปฐมฌาน คือความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นไป และเมื่อวางได้หมดจด ตัวจิต ตัวอวิชชาจะดับลง เข้าสู่สภาวะที่เรียกว่านิโรธ คือสภาวะที่ไร้ตัวตน ไร้ขอบเขต ไม่มีอะไรเลย เข้าถึงความว่าง เข้าถึงสุญญตา พลิกได้ตั้งแต่ขั้นความรู้สึกตัวขึ้นไป ก็จะเหลือแต่สภาวะของจริงที่เรียกว่า อมตะธาตุ ที่บริสุทธิ์อยู่ เพราะฉะนั้นคำว่าสติที่ใช้ในที่นี้ เป็น อมตะธรรม เป็นสิ่งที่เรียกว่า สติตัวจริง ก็คือสภาวะรู้ ตัวนี้
 
  • สติปัฏฐานสี่ที่พระองค์ตรัสว่าเป็นทางสายเอก ทางสายเดียวที่พ้นทุกข์ได้ ก็คือสติตัวจริงอันนี้ มันคืออมตะธรรม ไม่ใช่เจตสิกเจตสิกมันพ้นจากทุกข์ไม่ได้ จิต เจตสิก มันเป็นโลกียธรรม มันเป็นสิ่งเกิดดับ แต่สภาวะรู้ของจริงที่เรียกว่าปัญญาญาณ มันเป็นโลกุตร มันคืออมตะธรรม คือธรรมแท้ๆ ที่พ้นจากขันธ์ทั้งห้า เมื่อเราวางได้ ที่เรียกว่าวางจากขันธ์ทั้งห้าได้ จากสิ่งที่ยึด ที่หลง ก็จะเหลือแต่สภาวะธรรมแท้ๆ คือ สภาวะรู้ที่บริสุทธิ์อยู่
 
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่าง จะพ้นจากทุกข์ก็คือเข้าสู่สภาวะธรรมอันนี้ ที่เรียกว่าสภาวะรู้ ตรงนี้มันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่สภาวะหลงมันเข้ามาบดบังเท่านั้นเอง เมื่อใดที่วาง พระพุทธองค์ตรัสว่าจิตหลุดพ้น เพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่น คือมันวางได้ วางจากความหลง วางจากรูปนามขันธ์ห้าได้ มันก็จะเหลือแต่สภาวะของจริงที่เรียกว่า ธรรมธาตุ หรืออมตะธรรม โดยอาศัยสติปัฏฐานสี่ ฐานกาย ฐานเวทนา ฐานจิต และฐานธรรม พัฒนาสติ ปลุกความรู้นี้ขึ้นมา
 
การปฏิบัติในเบื้องต้น แต่ละข้อเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ปลุกความรู้ขึ้นมา แล้วเมื่อใดที่วางจากความคิดปรุงแต่งได้ ก็จะเหลือแต่ความรู้จริงนี้แหละ มันไม่ได้เกิดจากการเพ่ง จ้อง ตั้งเอา สร้างขึ้น มันแตกต่างมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่ความหลงมาบัง เมื่อใดที่เราวางได้ ปล่อย ไม่อะไรกับอะไรได้ ของจริงก็จะปรากฏขึ้นมาเอง เป็นแค่สภาวะรู้ที่ไร้ตัวตน ไร้ขอบเขต
 
........................................

ธรรมบรรยาย โดยพระมหาวรพรต กิตติวโร (ป.ธ.๖)
คอร์สอบรมวิปัสสนา "เดินจิต...สติปัฏฐานสี่" วันที่ ๗-๑๕ มกราคม ๒๕๖๐"
ณ ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ เขมรังสี (ศูนย์ ๔) อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้