ปุจฉา : วันก่อนพระอาจารย์อธิบายคำว่า
”ติดดี” พอเข้าใจค่ะ
แต่คำว่า “ติดธรรม”
มีความหมายอย่างไรคะ?
วิสัชนา :
ปฏิบัติด้วยความยึดไง
ยึดสิ่งใดมันก็เป็นทุกข์กับสิ่งนั้น
ยึดข้อวัตรปฏิบัติบ้าง
ยึดอะไรก็ตาม
ยึดสิ่งใดมันก็เป็นทุกข์กับสิ่งนั้นนั่นแหละ
ยึดข้อวัตรปฏิบัติ
ยึดรูปแบบในการปฏิบัติ
ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ
ก็เป็นเรื่องของการยึดติดทั้งนั้น
พระพุทธศาสนา
เป็นเรื่องของการสละ ละ วาง
ครั้งหนึ่งมีพราหมณ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า... ที่พระองค์ทรงแสดงธรรมไว้จำนวนมาก
มีไหมสักบทหนึ่งที่รวมทุกสิ่งทุกอย่างของพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า... มี.... ก็คือ
" ธรรมทั้งปวง ใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น "
การไม่ยึดติด
พระพุทธเจ้าตรัสว่า...
ผู้ที่ได้ยินธรรมบทนี้ หรือ การปล่อยวาง
ชื่อว่าได้ยินธรรมทั้งหมดของพระพุทธศาสนา
เป็นหลักธรรม
เป็นหลักปริยัติเลย
ผู้ที่ปฏิบัติตามบทนี้คือ “ธรรมทั้งปวงใครๆไม่ควรยึดมั่นถือมั่น"
...ชื่อว่า
ได้ปฏิบัติตามธรรมทั้งหมดของพระพุทธศาสนา
เป็นทั้งหลักธรรม ปริยัติ เป็นทั้งวิธีการปฏิบัติ
ผู้ที่ปฏิบัติตามธรรมบทนี้แล้วได้รับผลจากธรรมบทนี้
ก็คือ ความไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือ การปล่อยวาง
ชื่อว่า...ได้รับผลทั้งหมดของพระพุทธศาสนา
เป็นทั้งปริยัติ ปฏิบัติ แล้วก็ปฏิเวธ
เพราะฉะนั้น
พระพุทธศาสนา ก็คือ การไม่ยึดติด
หรือ การปล่อยวางนั่นเอง
ซึ่ง มันง่ายเหมือนการวางของไหม?
นึกอยากจะวางก็วาง มันง่ายแบบนี้ไหม
....ไม่ได้ง่ายแบบนี้
การปล่อยวาง มันเกิดจาก
การมีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัว
สังเกตพอรู้สึกตัวปุ๊ป มันหลุดจากอารมณ์
ก็ค่อยๆ ปฏิบัติ
ที่สุดแล้ว มันก็หลุดจากการยึดมั่นถือมั่นทั้งหมด
เป็นเรื่องของการสลัดออก การสลัดคืน
โดย พระมหาวรพรต กิตติวโร