เมื่อจิตปรามาส จิตอกุศล ผุดขึ้นมา

เมื่อฝึกปฏิบัติไปเรื่อย ๆ จนมีจิตใจที่ตั้งมั่น
ก็จะเริ่มเห็นการทำงานของจิตตสังขาร
มันเป็นเหมือนเสียงพูดในใจที่ผุดขึ้นมาในใจของเรา
#เจอบ้างไหมเสียงพูดในใจ
.
มันจะปรุงมาเป็นเรื่องที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้างก็ตาม
บางทีมันก็ปรุงเป็นข้ออรรถข้อธรรมต่าง ๆ
แต่บางทีมันก็ปรุงมันเป็นความคิดที่ไม่ดีก็มี
#บางทีก็มีจิตที่ปรามาสพระบ้างผุดขึ้นมา
.
หลายคนพอมีสิ่งเหล่านี้ผุดขึ้นมา
บางทีก็ใจเศร้าหมองว่า เรานี่ทำไมชอบคิดไม่ดี
โดยเฉพาะถ้าเป็นจิตที่คิดปรามาสพระรัตนตรัยขึ้นมา
ก็พลอยทำจิตใจให้เศร้าหมองไป
.
แต่จริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้มันก็เป็นสิ่งที่ผุดขึ้นมา
รากเหง้าจริง ๆ #มันก็เกิดจากวิบากกรรม
ส่งผลให้ สัญญา สังขาร เกิดการปรุงแต่ง
เป็นจิตตสังขารผุดขึ้นมา
เรียกว่ามันเป็นวิบากกรรมที่เราต้องเสวย
.
แต่ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน เกิดความพอใจ ไม่พอใจ
หลงไปกับความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น
มันก็จะเกิดจิตใจที่เศร้าหมองบ้าง
จิตใจที่กระวนกระวายบ้าง
อันนี้วงจรกรรมก็เกิดสืบต่อไป
แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่ผุดขึ้น
เราก็ไม่ได้อะไรกับสิ่งเหล่านี้
#มันก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็สลายไป
.
#พระพุทธเจ้าตรัสว่าเจตนาเป็นตัวกรรม
#เราไม่ได้มีเจตนาที่จะคิดไม่ดีหรือเจตนาที่จะปรามาส
#แต่มันเป็นความคิดที่ผุดขึ้นมาเอง
.
ถ้าเราสามารถพลิกเป็นวิปัสสนาญาณได้
เราจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มันก็เป็นเพียง
สิ่งที่ผุดขึ้นแล้วก็สลาย ผุดขึ้นแล้วก็สลาย
ความรู้สึกความคิดมันก็เป็นพลังงาน
ที่ผุดขึ้นแล้วก็สลาย ผุดขึ้นแล้วก็สลาย
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของของเรา
.
ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณระดับสูง
จะเห็นตั้งแต่รากเหง้าของมัน
ทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงผุดขึ้นมา
เพราะว่ามันมีเหตุ เหตุเกิดผลก็เกิด
รากเหง้ามันคือวิบากกรรม
ก่อให้เกิดสังขารความปรุงแต่ง
เป็นจิตตสังขารที่ผุดขึ้นมา
เป็นกุศลก็ตาม อกุศลก็ตาม
#ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณมันจะแยกออกเลย
#ว่าสิ่งที่ผุดนั้นไม่ใช่เรา #มันเป็นเพียงสิ่งที่ผุดขึ้นมา
.
แต่ถ้าเป็นสภาวะจิตตั้งมั่น
มันยังมีอุปทานอยู่ มันก็จะหลงยึดอยู่ว่า
เป็นเราคิด เป็นความคิดเรา เป็นความรู้สึกของเราอยู่
ทั้งที่จริงมันก็เป็นสิ่งที่ผุดขึ้นมานั่นแหละ
.
เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความชำนาญในสมาธิ
แล้วพลิกเป็นวิปัสสนาญาณเป็น
ให้ทดลองเดินสภาวะด้วยตัวเอง
เมื่อสิ่งเหล่านี้มันผุดขึ้นมา
เราสามารถใช้สิ่งเหล่านี้
เป็นอุปกรณ์ในการเรียนรู้ได้
การทำงานของจิตตสังขาร เวลาเป็นจิตตั้งมั่น
มันก็เป็นความคิด ที่เหมือนรู้สึกว่าเราคิด
มันผุดขึ้น มันผุดขึ้น
.
แต่ถ้าเราจิตไม่ตั้งมั่น มันก็จะไหลไปกับเราเลย
เกิดความพอใจ ไม่พอใจ เกิดขึ้น
แต่บางทีก็อินไปกับความรู้สึกนั้น
อินไม่พอทีนี้บิ๊วอารมณ์ตัวเองขึ้นมาอีก ทีนี้ยาวเลย
เคยบิ้วอารมณ์ตัวเองไหม มันไหลไปกับอารมณ์
.
แต่ถ้ามีจิตตั้งมั่น มันก็ละสิ่งเหล่านั้น
แต่ถ้าเราพลิกเป็นวิปัสสนาได้ชำนาญปุ๊บ
เราจะเห็นการทำงานตรงนี้
มันเป็นพลังงานที่ผุดขึ้นมา
ความคิด ความรู้สึก ก็เป็นพลังงานที่ผุดขึ้นมา
บางคนจะรู้สึกได้ว่ามันเหมือนเป็นดวง ๆ เลย
ดวงความคิด ดวงอารมณ์ ดวงความรู้สึก
ไม่ใช่นิมิตนะ มันเป็นพลังงาน
แต่พอเป็นวิปัสสนาญาณมันเห็นได้
ต้องทดสอบด้วยตัวเอง
.
เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความชำนาญ
ทั้งสมาธิและวิปัสสนาญาณ
เราจะเห็นความแตกต่างระหว่าง
ขณะที่เป็นสมาธิการรู้เห็นมันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง
คือมันจะมีตัวเราอยู่
แต่พอเป็นวิปัสสนาญาณ มันเป็นเพียงแค่
สิ่ง ๆ หนึ่งที่เกิดขึ้น สิ่ง ๆ หนึ่งที่ดับไป
แล้วเราจะเข้าใจความลึกซึ้งของธรรมได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
ทุกความรู้สึกนึกคิดที่ผุดขึ้น
มันก็เป็นสิ่งที่ต้องเสวยทั้งนั้น
ตราบใดที่ยังมีวิบากกรรมอยู่
สิ่งเหล่านี้มันก็จะส่งผลให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา
โดยธรรมชาติอยู่แล้ว
.
แต่ความแตกต่างระหว่าง
ผู้ที่ยังไม่ได้ฝึกฝน กับผู้ที่มีจิตใจที่ตั้งมั่นก็คือ
พอมีความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้น
มันก็จะไหลไปกับสิ่งเหล่านี้
ไหลมาก ๆ มันไม่ได้แค่ไหลที่ใจนะ
มันก็ออกที่ปาก ออกที่การกระทำด้วย
เกิดความโกรธก็ลงมือลงไม้ พูดจาให้เจ็บช้ำน้ำใจ
.
แต่ผู้ที่มีจิตใจตั้งมั่นรู้เท่าทันอารมณ์
มันผุดขึ้น ก็ละได้ ปล่อยวางอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นได้
#ตรงนี้เป็นเครื่องชี้วัดความก้าวหน้าในการปฏิบัติอย่างหนึ่ง
ไม่ใช่ว่าจะเก่งเฉพาะช่วงปฏิบัติในรูปแบบเท่านั้น
แต่ในชีวิตประจำวัน เวลาเจอสถานการณ์ต่าง ๆ
ก็สามารถรักษาใจที่ตั้งมั่นได้ รู้เท่าทันอารมณ์ต่าง ๆ ได้
ปล่อยวางอารมณ์ต่าง ๆ ได้
อันนี้เป็นความก้าวหน้าในการปฏิบัติอย่างหนึ่ง
.
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสถึง
อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ
#เมื่ออารมณ์ผุดขึ้นแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว
#แต่ความเป็นกลางความตั้งมั่นยังดำรงอยู่
นั่นคือ #อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ
.
ให้วัดความก้าวหน้าของตัวเองตรงนี้ว่า
เวลามันมีความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ที่ผุดขึ้น
ใจเราเป็นอย่างไร มีความตั้งมั่นไหม
มีความเป็นกลางไหม
หรือว่าไหลไปกับสิ่งเหล่านั้น
และเมื่อไหล รู้เท่าทันละปล่อย ได้เท่าทันหรือไม่
..............................
ธรรมโดย พระมหาวรพรต กิตติวโร

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้