ความก้าวหน้าในการปฏิบัติก็ให้สังเกตตัวเองว่า
มีสติรู้สึกตัวได้ดีขึ้น ต่อเนื่องขึ้น
แม้ในระหว่างวันก็มีสติรู้สึกตัวได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อเรามองย้อนก่อนหน้านี้ 1 เดือน 2 เดือน
เห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง
ใจเย็นขึ้นไหม ใจนิ่งขึ้นไหม
ความเร่าร้อนต่าง ๆ ลดลงไหม
มีสติมีความรู้สึกตัวดีขึ้นไหม
เข้าถึงความตั้งมั่นของใจได้ดีหรือไม่
.
พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงสิ่งที่เรียกว่า
#อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ
เป็นเครื่องวัดความก้าวหน้าของการปฏิบัติ
เมื่ออารมณ์เกิดขึ้น แล้วดับไปอย่างรวดเร็ว
แต่อุเบกขา ความเป็นกลาง ความตั้งมั่นยังดำรงอยู่
นั่นคือ อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ
.
ให้สำรวจใจในแต่ละวัน พอมันมีสิ่งที่มากระทบ
ใจเกิดการกระเพื่อมหวั่นไหว
ใหม่ ๆ มันหายไปนาน บางทีก็ไหลไปกับอารมณ์ยาว
กลับเริ่มกลับมาสู่ความรู้สึกตัวความตั้งมั่นของใจ
ได้บ่อยขึ้นต่อเนื่องขึ้น
จนแม้ขณะมีสิ่งที่ผุดขึ้นแต่ใจกับไม่หวั่นไหว
มีความเป็นกลางความตั้งมั่นอยู่
.
เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติ
มันไม่ใช่ว่ามันจะต้องเกิดสภาวะต่าง ๆ ทั้งหมด
เกิดปีติ เกิดสุข เกิดอุเบกขา ทุกสภาวะธรรม
สภาวะจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม
วัดที่ความเป็นกลาง ความตั้งมั่นของใจ
ว่าใจมีความเป็นกลาง มีความตั้งมั่นไหม
.
แม่ในระหว่างวันหรือแม้กระทั่งในเวลา
ที่เราเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ
ที่ทำให้จิตใจหวั่นไหว จิตใจร้อนรุ่ม จิตใจย่ำแย่
เราสามารถกลับเข้าสู่ความเป็นปกติ
ความเป็นกลาง ความตั้งมั่นของใจได้ไหม
เพราะฉะนั้นความก้าวหน้าของการปฏิบัติ
มันไม่ได้วัดว่า เราต้องไปเห็นนู่นนี่อะไรมากมายหรอก
มันวัดความตั้งมั่นของใจ
.
ความตั้งมั่นของใจ ก็มีทั้งระดับที่เป็นโลกียธรรม
แล้วก็ระดับของโลกุตรธรรม รักษาใจให้ตั้งมั่นอยู่เสมอ
บางทีเราอาจจะประคองความตั้งมั่นของใจ
ในเวลาที่ฝึกในรูปแบบได้ดี
แต่ในระหว่างวัน เราจะพบว่า
เราไม่สามารถรักษาใจที่ตั้งมั่นได้
พอมีสิ่งที่กระทบ มันก็หวั่นไหว เกิดการกระเพื่อม
เราก็ไหลไปกับสิ่งต่าง ๆ
.
ก็ให้รู้ว่านั่นคือ #สิ่งที่เราต้องขัดเกลาพัฒนาขึ้นมา
#จนสามารถรักษาใจที่มีความตั้งมั่นเป็นปกติได้
ผู้ที่มีจิตใจที่ตั้งมั่น มันเป็นประโยชน์เกื้อกูล
ในทุก ๆ เรื่องในชีวิตของเรา
ผู้ที่มีจิตใจที่ตั้งมั้นจะทำอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ทั้งทางโลกและทางธรรม
จึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมาก ๆ
........................................
ธรรมโดย พระมหาวรพรต กิตติวโร